งานสงกรานต์ของชาวมอญ /ประเพณีสงกรานต์ (ปัจอะห์ต๊ะห์) 

งานสงกรานต์ของชาวมอญ /ประเพณีสงกรานต์ (ปัจอะห์ต๊ะห์) 
 
     เป็นเทศกาลสำคัญประจำปีของชาวมอญ จะมีการทำบุญเฉลิมฉลองกันอย่างมโหฬารในทุกหมู่บ้านของชุมชนคนมอญ เทศกาลนี้ใช้ระยะเวลาหลายวัน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกๆ ปี
 
     พิธีสงกรานต์ของชาวมอญจะเริ่มจากการทำบุญฉลองสงกรานต์ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ คือ การแห่ข้าวแช่ แห่น้ำปลาหวาน ปล่อยปลา แห่สงกรานต์ และจบลงด้วยการทำบุญกลางบ้าน และรำเจ้าประจำปีของแต่ละหมู่บ้าน คนมอญถือกันว่าประเพณีนี้เป็นการขึ้นศักราชใหม่ จึงจัดให้มีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ด้วย การทำบุญรักษาศีลเพื่อเป็นการต้อนรับศกใหม่ และเพื่อบูชาพระรัตนตรัย และนางสงกรานต์ การเตรียมการจะเริ่มก่อนวันสงกรานต์ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยจะมีการเตรียมกวนขนมกาละแม ซึ่งเป็นขนมที่ต้องใช้แรงงานคนมากในการทำ ชาวบ้านจะช่วยกันกวนกาละแมในกระทะเหล็กขนาดใหญ่ ใช้เวลากวนประมาณ 4 ชั่วโมงต่อกระทะ นอกจากกาละแมแล้ว จะมีการกวนข้าวเหนียวแดงหรือข้าวเหนียวแก้ว ซึ่งเป็นขนมสำหรับทำบุญในเทศกาลนี้เช่นกัน แล้วยังมีการทำ "คะนอบจิน” หรือขนมจีน ซึ่งเป็นอาหารของมอญแต่โบราณมาแล้วเพื่อเตรียมทำบุญด้วย แต่ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ข้าวแช่ ซึ่งมอญเรียกว่า "เปิงฮงกราบ”
 
     ในเช้าวันที่ 13 เมษายน ชาวบ้านจะจัดเตรียมข้าวแช่ใส่สำรับ โดยนิยมใส่ในหม้อดินเผา เพราะจะทำให้ข้าวแช่เย็นและมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน และในสำรับก็จะมีอาหารที่ใช้รับประทานกับข้าวแช่ ชาวบ้านจะนำข้าวแช่นี้ไปถวายพระสงฆ์ที่วัดตั้งแต่เช้าตรู่ ขณะเดียวกันที่บ้านก็จะทำพิธีบูชานางสงกรานต์ที่มอญเรียกว่า "มิ๊ห์ซงกราน” ด้วยการสร้างศาลเพียงตาที่บริเวณหน้าบ้าน แล้วนำข้าวแช่พร้อมเครื่องบูชามาวางไว้ การทำบุญในวันสงกรานต์จะทำกัน 3 วัน คือวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายน ในระหว่างการทำบุญนี้จะมีการส่งสำรับให้แก่ญาติและผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือด้วย โดยลูกหลานหรือผู้น้อยจะนำสำรับอาหารไปไหว้ผู้ใหญ่เพื่อเป็นการแสดงความคารวะ ซึ่งปกติจะทำกันปีละ 2 ครั้ง คือในวันสงกรานต์ และวันออกพรรษา ส่วนในตอนเย็นและเวลากลางคืนจะมีการละเล่นตามหมู่บ้านต่างๆ โดยส่วนมากแล้วจะจัดเป็นที่เล่นสะบ้ามอญและการแสดงทะแยมอญ การละเล่นสะบ้าเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มๆ สาวๆ ได้มีโอกาสรู้จักและสนิทสนมกัน แต่ทั้งนี้ก็เป็นการกระทำที่อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ เพราะสถานที่เล่นสะบ้านั้นจะจัดขึ้นในบริเวณหมู่บ้าน
 
     หลังวันที่ 15 เมษายนมาแล้ว จะมีการแห่นางสงกรานต์ ปล่อยปลา เช่น ที่ พระประแดง ทางเกาะเกร็ดจะมีการแห่น้ำหวานมาบรรจุขวดไปถวายพระตามวัดต่างๆ โดยมีการจัดขบวนแห่กันอย่างยิ่งใหญ่ คนมอญจะยังคงทำบุญและสนุกสนานกันต่อไปจนถึงวันทำบุญกลางบ้าน สรงน้ำพระ และแห่หางหงส์ การทำบุญกลางบ้านหรือที่ชาวมอญเรียกกันว่า "ป๊ะห์กาวยา อาโต้ห์กวาน” เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชาวบ้านและหมู่บ้านนั้นมีการเลี้ยงพระในตอนเช้า ชาวบ้านในหมู่บ้านจะมาช่วยกันจัดอาหารมาถวายพระและเลี้ยงกันในหมู่ชาวบ้าน เมื่อทำบุญกลางบ้านแล้ว การเฉลิมฉลองการขึ้นศักราชใหม่ จะมีการทำบุญต่อเนื่องไปอีกด้วยการจัดพิธีทำบุญสรงน้ำพระ
 
     เนื่องจากสงกรานต์เป็นช่วงที่อากาศร้อนจัดมาก ชาวบ้านจึงร่วมกันจัดทำบุญสรงน้ำพระ ซึ่งในการสรงน้ำพระนี้ชาวบ้านจะทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปและพระเจดีย์ที่สำคัญประจำวันเกิด หลังจากการสรงน้ำพระ ชาวบ้านจะมาร่วมกันแห่หางหงส์ ซึ่งหงส์นี้จะทำขึ้นด้วยผ้าสีสันคล้ายๆ ธง ยาวประมาณ 2-3 วา ชาวบ้านจะช่วยกันทำก่อนงานแล้ว เมื่อถึงวันงานจะนำมาเข้าขบวนไว้ที่เล้าหงษ์ในบริเวณวัด โดยวัดมอญส่วนใหญ่จะมีเล้าหงส์อยู่หน้าวัด ในทุกๆ ปีเมื่อมาถึงเทศกาลสงกรานต์ จะต้องมีการนำหางหงส์ขึ้นประจำเล้าหงส์ด้วยการจัดให้มีการแห่หางหงส์จากหมู่บ้านมาที่วัด และช่วยกันชักเอาหางหงส์นั้นขึ้นลอยสู่ยอดเล้าหงส์ และก่อนจะถึงขั้นนั้นชาวบ้านจะทำพิธีบูชาพระเจดีย์ หรือพระพุทธรูปสำคัญของวัดพร้อมทั้งมีการสวดมนต์ จากนั้นจึงช่วยกันชักหางหงส์ขึ้นสู่ยอดเล้า เมื่อการทำบุญต่างๆ ผ่านมาจนถึงวันที่มีการสรงน้ำพระนี้แล้ว คนมอญทั้งหลายก็เชื่อว่าความร่มเย็นเป็นสุข ความเป็นศิริมงคลทั้งหลายมีพร้อมอยู่ในหมู่บ้านและเป็นของชาวบ้านเหล่านั้น อันเป็นผลบุญที่ได้จากการประกอบการกุศล ทั้งคุณพระรัตนตรัยและเทพยดาอารักษ์ปกปักรักษาให้มีความสุข ความเจริญ ร่มเย็น การเฉลิมฉลองศกใหม่จึงเป็นนิมิตรหมายอันดีงาม ที่จะทำให้ทุกคนมีชีวิตอย่างสงบสุขตลอดไป
 


image รูปภาพ
image
image
image
image

image วิดีโอ

ไฟล์เอกสารประกอบ
|

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar