วธ. เปิด ๑๐ ข้อ แนวทางจัดงาน ‘สงกรานต์’ ปี ๒๕๖๗ ภายใต้แนวคิด มหาสงกรานต์เย็นทั่วหล้า ทั่วไทย สู่ความภูมิใจระดับโลก

ในโอกาสที่ “ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๖ ณ เมืองคาซาเน สาธารณรัฐบอตสวานา นั้น ถือเป็นการกระตุ้นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เกิดความสนใจ เดินทางมาสัมผัสบรรยากาศงานประเพณีในประเทศไทย ซึ่งเป็น Soft Power (Festival) เป็นเทศกาลยอดนิยมเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จะนำมาซึ่งรายได้มหาศาลที่เกิดจากนักท่องเที่ยว ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนมีรายได้เพิ่มขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้กิจกรรมประเพณีสงกรานต์หมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เป็นไปด้วยความงดงามและเหมาะสม รวมถึงป้องกันและแก้ไขปัญหา ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาล กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้กำหนดแนวทางการจัดงานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๗ โดยให้สอดคล้องกับแนวคิดกับการจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ ๒๕๖๗” ของรัฐบาล ประกอบด้วย ๑๐ แนวทางสำคัญ ดังนี้

๑. จัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ที่เป็นการสร้างการรับรู้ ต่อประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย ได้รับการประกาศจาก UNESCO ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

๒. จัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์โดยเน้นเผยแพร่คุณค่าและสาระ ที่ถูกต้องของวัฒนธรรม ประเพณี คำนึงถึงความเหมาะสม บริบทของแต่ละท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม การเปิดกว้างทางความคิดและเปิดรับความหลากหลายทางอัตลักษณ์

๓. ส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในประเพณี สงกรานต์ เพื่อร่วมกันสืบสานประเพณีที่ดีงาม เหมาะสม

๔. รณรงค์ให้ประชาชนสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณีสงกรานต์ เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน วัด ศาสนสถานที่นับถือ สถานที่สาธารณะ ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ และใช้ทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างประหยัด รู้คุณค่า

๕. รณรงค์ให้ประชาชนสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยในการเข้าร่วมกิจกรรมประเพณี สงกรานต์ เช่น แต่งกายด้วยชุดสุภาพผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น ชุดไทยย้อนยุค เสื้อลายดอก หรือเสื้อผ้าที่เป็น Soft Power ของท้องถิ่น (เช่น กางเกงลายช้าง กางเกงลายแมวโคราช เป็นต้น) เพื่อสร้างภาพลักษณ์และเพื่อสร้างการรับรู้ อัตลักษณ์ความเป็นไทยในประเพณีสงกรานต์ต่อชาวต่างชาติ

๖.  ขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนศิลปินพื้นบ้านในการจัดกิจกรรม การละเล่น และการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น เพื่อเป็นการถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และให้เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันสืบสานประเพณี โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมที่ถูกต้องเหมาะสม และร่วมกันเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม

๗. รณรงค์ให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เช่น การไม่คุกคามทางเพศ การเคารพและให้เกียรติผู้ที่ไม่ประสงค์จะเล่นสาดน้ำสงกรานต์ การไม่สร้างความเดือดร้อน ไม่สร้างความวุ่นวายในที่สาธารณะ

๘. ขอความร่วมมือประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะและใช้ถนนหนทาง ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมถึงช่วยสอดส่อง หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ในกรณีพบเห็นผู้ที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม

๙. การดำเนินการจัดงานตามคำแนะนำในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด โรคติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำโรค ขณะเดียวกัน ก็คำนึงถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงประเพณีสงกรานต์และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงการรักษาความปลอดภัยในด้านอื่น ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

๑๐. ส่งเสริมกิจกรรมที่มีความสร้างสรรค์ที่สามารถพัฒนาต่อยอดจากคุณค่าสาระ ของประเพณีสงกรานต์เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ ในชุมชน และยังคงอัตลักษณ์ของความเป็นท้องถิ่น

ทั้งนี้ “ยูเนสโกยังได้อนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ UNESCO และตราสัญลักษณ์ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ควบคู่กับตราสัญลักษณ์ของหน่วยงาน ในการจัดงานส่งเสริมและรักษาประเพณีสงกรานต์ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ ๑ - ๑๓ เมษายน ๒๕๖๗

#ทีมโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม 
#กรมส่งเสริมวัฒนธรรม 
#สงกรานต์ในประเทศไทย 
#สงกรานต์ภาคกลาง 
#เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์๒๕๖๗ 
#MahaSongkranWorldWaterFestival2024 
#ประเพณีวันไหล 
#สงกรานต์มอญ 
 #SoftPower

 


image รูปภาพ
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar